วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

15 คุณลักษณะของทุนนิยมความรับรู้ (Cognitive Capitalism)

15 คุณลักษณะของทุนนิยมความรับรู้ (Cognitive Capitalism)
ถอดความจาก Yann Moulier Boutang, Cognitive Capitalism (Polity Press, 2011), pp. 50-56.




1.      ส่วนสำคัญที่สุดของทุนนิยมความรับรู้คือ การขยายบทบาทขึ้นของสิ่งที่เป็น “อวัตถุ” (immaterial) และภาคการบริการซึ่งสัมพันธ์กับการผลิตอวัตถุ บทบาทของอวัตถุไม่ได้จำกัดแต่เพียงภาคการผลิตใดภาคการผลิตหนึ่งเท่านั้น แต่ขยายไปในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการที่อยู่ในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งในปี 1985 มูลค่าของภาคการผลิตอวัตถุสามารถเอาชนะภาคการผลิตวัตถุ

2.      เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ใหม่ๆมีส่วนสำคัญที่ทำให้การผลิตอวัตถุขยายตัวออกไปได้  และอยู่ในรูปของข้อมูลดิจิตอล การผลิตแบบนี้เน้นที่การสร้างข้อมูล การจัดการข้อมูล การเก็บข้อมูลในรูปของดิจิตอลทั้งในการผลิตความรู้เองและการผลิตโดยทั่วไปของสังคม

3.      การขยายตัวของการผลิตอวัตถุทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะความรู้และวิทยาศาสตร์ซึ่งกลายมาเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ หรือกลายเป็น “ภาคการผลิตหลัก” ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ใน 2 แง่

3.1  วิทยาศาสตร์และความรู้คือปัจจัยหลักของความสามารถในการสร้างสรรค์ ในฐานะที่มันเป็นมูลค่าใช้สอย (use-value)

3.2  วิทยาศาสตร์และความรู้สามารถตกผลึกกลายเป็นสินค้าและบริการได้ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการสร้างมูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange-value)

ความรู้และวิทยาศาสตร์คือปัจจัยชี้ขาดในการขูดรีดของระบบทุนนิยม แม้ว่าแรงงานเชิงวัตถุจะไม่ได้หายไป แต่แรงงานวัตถุได้ถูกลดความสำคัญลงไป การหันมาเน้นที่สินค้าหรือทรัพย์สินเชิงอวัตถุเหล่านี้ช่วยให้บรรษัทสามารถควบคุมกระบวนการสร้างมูลค่า (process of valorization) ของสังคมทั้งหมดได้ สิ่งที่ทุนควบคุมจึงไม่ใช่เพียงการใช้เทคโนโลยีและการผลิตเชิงวัตถุ แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ ทุนเข้ามาควบคุมกระบวนการสร้างมูลค่าทั้งหมดของสังคม

4.      การพัฒนาเทคโนโลยีของทุนไม่สามารถถูกลดทอนได้เป็นการพัฒนาในเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่การพัฒนาของทุนในทุนนิยมความรับรู้คือเรื่องที่ควบคู่กันไปและเกิดขึ้นในระดับของสังคมทั้งหมด

5.      ตัวแบบการแบ่งงานกันทำที่อดัม สมิทธิ์เสนอนั้นถูกทำให้สมบูรณ์ในระบบการผลิตแทบบสายพานหรือเทย์เลอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติหลายประการ คือ 1) การลดทอนความซับซ้อนของงานให้ง่ายที่สุด 2) การแยกระหว่างการทำงานแบบใช้แรง กับการหาความรู้ออกจากกัน และ 3) การแบ่งงานกันทำตามความถนัดเริ่มลดบทบาทลงในโลกที่การผลิตมีขนาดเล็กกระทัดรัดมากขึ้น ในบริบทเช่นนี้ที่ทุนนิยมอุตสาหกรรมกำลังพังทลายไป ระบบทุนนิยมความรับรู้ไม่ได้มุ่งเน้นที่การขยายขนาดของเศรษฐกิจในฐานะพลังของความเจริญเติบโต แต่กลับมุ่งเน้นการพัฒนาระบบ “เศรษฐกิจแห่งความหลากหลาย” (economy of variety) ขึ้นมา ผ่านการแบ่งงานกันทำในระดับโลกที่มีหน่วยการผลิตขนาดเล็ก เชื่อมต่อกัน และใช้เกณฑ์ของความรู้เป็นตัวชี้วัด

6.      ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของตลาดแรงงานทำให้การจัดการตลาดแรงงานไม่สามารถทำได้ในขอบเขตพื้นที่ที่จำกัดได้อีกต่อไป แต่มีกระบวนการแบ่งแยกตลาดภายใน พร้อมๆกับมีการทลายกำแพงขอบขอบเขตพื้นที่เดิม และขยายตลาดออกไปแบบข้ามพรมแดน

7.      เรากำลังเห็นการปฏิวัติของกระบวนการผลิตของโลก ซึ่งส่งผลต่อการแบ่งงานกันทำของสังคมด้วย จากเดิมที่เราแยกการคิด การผลิต และการตลาดออกจากกันแบบเรียงลำดับ แต่ในระบบทุนนิยมความรับรู้ ปริมณฑลต่างๆถูกกลับหัวกลับหาง การคิดค้นสร้างสรรค์เกิดขึ้นในการผลิตและเกิดขึ้นในการบริโภค การพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้อยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญนอกสังคม แต่อยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆร่วมกันของคนในสังคมผ่านการบริโภคและการใช้ชีวิต

8.      แม้ว่ากระบวนการเลี่ยนสิ่งต่างๆให้เป็นสินค้าจะดำเนินไป แต่เกณฑ์ชี้วัดมูลค่ากำลังเปลี่ยนไป เพราะเราไม่สามารถสร้างตัวชี้วัดที่ครอบคลุมเพียงพอต่อความหลากหลายของปัจจัยนำเข้าหรือ inputs ที่ใส่เข้าไปในการผลิตได้ โดยเฉพาะปัจจัยนำเข้าที่เรียกว่า “ทุนมนุษย์” (human capital) ซึ่งมีลักษณะอวัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ

9.      รูปแบบการจัดองค์กรการผลิตก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย การเกิดขึ้นของ “เครือข่าย” (network) ของการผลิตผ่านการเชื่อมต่อของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของระบบอินเตอร์เนตทำให้การทำงานของสังคมในการผลิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

10.  การเกิดขึ้นของ “การทำงานร่วมกันของสมองมนุษย์” เป็นตัวชี้วัดการลดน้อยถอยลงของวิธีคิดเรื่องกำลังแรงงานเชิงวัตถุแบบเก่า สิ่งที่เราเห็นว่า “งานกำลังหมดไป” นั้นเป็นเพียงอาการของการเปลี่ยนแปลงของการผลิต ที่แรงงานอุตสาหกรรมและกำลังแรงงานเชิงวัตถุกำลังหมดความสำคัญลงเท่านั้น

11.  การเกิดขึ้นของทุนนิยมความรับรู้ต้องการแรงงานที่ตายแล้ว (dead labour) ไม่น้อยไปกว่าแรงงานที่มีชีวิต (living labour) แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ เราไม่สามารถลดทอนบทบาทของแรงงานที่มีชีวิตให้กลายเป็นเพียงแรงงานที่ตายไปแล้วได้อีกต่อไป การผลิตชีวิต (bio-production) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดการพัฒนาของเครื่องจักรและเทคโนโลยีหรือแรงงานที่ตายแล้วด้วย

12.  การสร้างสรรค์ (innovations) ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในบรรษัทเดียวอีกต่อไป แต่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อในรูปของ cluster ของการผลิตผ่านเครือข่ายการผลิตที่ขยายใหญ่ขึ้น

13.  คุณสมบัติของการผลิตสร้างอวัตถุที่อยู่ในรูปของเครือข่ายนั้นมีลักษณะที่เป็นแนวระนาบ (horizontal) มากขึ้น ซึ่งเมื่อทุนยัดเยียดระบบกรรมสิทธิ์เข้ามา โดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อมาจัดการกับผลผลิตเชิงอวัตถุ จึงเกิดความขัดแย้งอย่างมากระหว่างความรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่กระจายตัวไปในแนวระนาบ กับระบอบกรรมสิทธิ์ซึ่งทำงานแบบบนลงล่างในแนวดิ่ง (vertical)

14.  ในระบบทุนนิยมความรับรู้ สิ่งที่อยู่ภายนอกกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่สุด โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น งานสร้างสรรค์ที่เกิดนอเวลาการทำงาน ความรู้ที่อยู่ในตัวตนของมนุษย์ และความสามารถทางปัญญาในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งที่อยู่ “นอก” เริ่มมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


15.  เมื่อการผลิตความรู้เป็นสิ่งเดียวกับการผลิตชีวิต การผลิตทั้งหมดของระบบทุนนิยมความรับรู้จึงเป็นการผลิตชีวิต (bio-production) และการผลิตชีวิตเองก็ต้องการการกระทำร่วมกันแบบรวมมหู่ โดยเฉพาะการกระทำทางปัญญา ส่วนการที่ทุนพยายามเข้ามาควบคุมการผลิตชีวิตนั้นอาจเรียกได้ว่า “ชีวะอำนาจ” (biopower

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น