(บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 11 ฉบับที่ 2)
ในต้นศตวรรษที่ 21
การกลับมาทบทวนความคิดว่าด้วยการเมืองเพื่อการปลดปล่อยและคอมมิวนิสต์มีความสำคัญอย่างมาก
โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายซึ่งงานเขียนหลายชิ้นที่กลับมาตีความคอมมิวนิสต์ใหม่
ตัวอย่างเช่น การที่สำนักพิมพ์ Verso ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ฝ่ายซ้ายพิมพ์ชุดงานเขียนเกี่ยวกับความคิดคอมมิวนิสต์ขึ้น
เช่น Boris Groy เขียนเรื่อง The Communist
Postscript (2009), Alain Badiou เรื่อง The
Communist Hypothesis, Bruno Bosteels เรื่อง The
Actuality of Communism (2011), Jodi Dean เรื่อง The Communist Horizon (2012), Commonwealth ของ Hardt และ Negri (เฉพาะเล่มนี้พิมพ์โดย
Harvard) รวมถึง Living in the End Times (2010)
ของ Slavoj Zizek เป็นต้น
ในปี 2009 ได้มีงานสัมมนาเรื่อง The Idea
of Communism[1]ที่ Birkbeck Institute for the Humanities ซึ่งมีนักคิดฝ่ายซ้ายคนสำคัญ
2 คนเป็นตัวตั้งตัวตี คือ Slavoj Zizek และ Alain Badiou งานสัมมนานี้มีความสำคัญอย่างมากในการริเริ่มตั้งคำถามถึงสถานะและความสำคัญของความคิดคอมมิวนิสต์ในโลกปัจจุบัน
คำถามพื้นฐานก็คือ “คอมมิวนิสต์คืออะไร” โดยพิจารณาจากหลายมุมมอง
ทั้งจากมุมมองแบบปรัชญา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมือง เป้าหมายสำคัญเพื่อท้าทายข้อเสนอของฝ่ายซ้ายแบบเสรีนิยมและฝ่ายขวาที่เห็นพ้องต้องกันว่า
การเมืองแบบคอมมิวนิสต์ได้จบสิ้นลงแล้วนับตั้งแต่ปี 1989[2] ในงานสัมมนาครั้งนี้มีนักคิดฝ่ายซ้ายคนสำคัญของโลกเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน
เช่น Judith Balso, Bruno Bosteels, Susan Buck-Morss, Contas Douzinas,
Terry Eagleton, Peter Hallward, Michael Hardt, Jean-Luc Nancy, Antonio Negri,
Jacques Ranciere, Allessandro Russo, Alberto Toscano และ Giovanni
Vattimo และแม้ว่านักคิดฝ่ายซ้ายที่เข้าร่วมจะเห็นต่างกันในหลายเรื่องเกี่ยวกับความหมายของคอมมิวนิสต์
การเมืองเพื่อการปลดปล่อย และกรอบการวิเคราะห์ระบบทุนนิยมและรัฐทุนนิยม แต่ Badiou
ชี้ว่า ฝ่ายซ้ายทั้งหมดที่เข้าร่วมสัมมนาต่างเห็นพ้องกันในหลักการพื้นฐานที่ว่า
“ความคิดแบบคอมมิวนิสต์ยังคงมีคุณค่าในเชิงบวก”[3]
บทความแรกของงานสัมมนาถูกเปิดขึ้นโดยข้อเสนอของ
Alain Badiou นักปรัชญามาร์กซิสต์ชาวฝรั่งเศส
ซึ่งเขาได้เริ่มต้นโดยการประเมิน “ความล้มเหลว” ของขบวนการฝ่ายซ้ายและความคิดเกี่ยวกับการเมืองในอดีต
และความล้มเหลวใช้การไม่ได้ของการเมืองของฝ่ายซ้ายที่อยู่ในปัจจุบัน
และในท้ายที่สุดได้เสนอเรื่อง “ต้นแบบความคิดคอมมิวนิสต์” (Idea of
Communism) ซึ่งกลายมาเป็นฐานคิดของการถกเถียงถึงการกลับมาของคอมมิวนิสต์ในหมู่ฝ่ายซ้ายซึ่งได้เอ่ยชื่อไปแล้วข้างต้น
จนกลายมาเป็นการจัดงานสัมมนาในเรื่องเดียวกันในครั้งที่สองในปี 2012 ที่นิวยอร์ค โดยบทความที่นำเสนอในงานสัมมนาครั้งที่สองได้ตีพิมพ์รวมเล่มในปี
2013[4]
ซึ่งจะได้นำเสนอถึงรายละเอียดของการถกเถียงในโอกาสหน้าต่อๆไป
แม้ว่าปัญญาชนฝ่ายขวา
(รวมถึงฝ่ายซ้ายกลาง) ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า
ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางชนชั้นได้ถึงกาลอวสานแล้ว
เราอยู่ในยุคสิ้นสุดประวัติศาสตร์ สิ้นสุดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ฯลฯ
แต่ความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่ได้ระเบิดขึ้นเป็นระลอกๆ
โดยเฉพาะคนในระดับล่างของสังคมนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21
เป็นต้นมา[5]
จนสั่นคลอนความเชื่อดังกล่าว
แม้ว่าความขัดแย้งที่ระเบิดขึ้นจะสะท้อนความล้มเหลวของระบบทุนนิยม
ลัทธิเสรีนิยมใหม่ และระบอบเสรีประชาธิปไตย
แต่ความขัดแย้งกลับเผชิญหน้ากับข้อจำกัดคือไม่สามารถพัฒนาไปสู่การท้าทายระบบทุนนิยมได้อย่างถอนรากถอนโคน
ซึ่งฝ่ายซ้ายเองก็ประเมินความขัดแย้งต่างกันไป ในขณะที่ Hardt กับ Negri มองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือการลุกขึ้นทวงคืนประชาธิปไตยของมหาชน
(multitude)[6] แต่ Zizek[7] กลับประเมินเหตุการณ์การประท้วงในหลายครั้ง โดยเฉพาะ Occupy Wall
Street ในฐานะที่เป็นการแสดงความไม่พอใจของชนชั้นนายทุนน้อยที่อกหักจากระบบทุนนิยมเท่านั้น
Badiou ดูจะเห็นไปในทางเดียวกันว่า
ในขณะที่ความขัดแย้งระเบิดขึ้น แต่ฝ่ายซ้ายยังคงอยู่บนซากปรักหักพังของ
“ความล้มเหลว” ของความคิดและการจัดรูปขบวนทางการเมืองที่ผ่านมา ฝ่ายซ้ายไม่มีทางเลือกในการจัดรูปแบบของการเมืองที่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการฉกฉวยโอกาสเพื่อเปลี่ยนแปลง
และนี่คือสิ่งที่ Badiou เสนอว่า หากต้องการความเปลี่ยนแปลงที่ถอนรากถอนโคน
ฝ่ายซ้ายจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า “ความล้มเหลว”
ดังกล่าวมีที่มาและที่ไปอย่างไร
สำหรับ Badiou ปัญหาของการเมืองที่ปราศจากความเป็นการเมือง
หรือ post-political politics
ซึ่งเป็นการเมืองกระแสหลักของฝ่ายซ้ายในปัจจุบัน ก็คือ เป็นการเมืองที่ปราศจากต้นแบบทางความคิด
(Idea) ที่เลยพ้นไปหรือปฏิเสธการมีความคิดที่พ้นไปจากระบบทุนนิยมและการเมืองแบบรัฐ-พรรคการเมือง
เป็นการเมืองที่ยอมจำนนต่อข้อเสนอของฝ่ายขวาที่ว่าเราอยู่ในยุคสิ้นสุดอุดมการณ์ (end
of ideology) ที่เชื่ออย่างสนิทใจว่า ระบบทุนนิยมจะไม่มีวันล่มสลาย
และเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนได้ นอกเสียจากยอมรับสภาวะที่เป็นอยู่
เราทำได้เพียงแค่ปรับปรุงเล็กๆน้อยๆให้มันดีขึ้นเท่านั้น Zizek ได้จำแนกการเมืองแบบยอมจำนนเช่นนี้ออกเป็น 8 ประเภท
คือ
(1)
แนวทางแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย/ทางเลือกที่สาม
ซึ่งยอมรับอย่างเต็มที่ว่าเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้
และถ้าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ต้องอยู่ในรัฐสภาเท่านั้น
(2) การเมืองแบบที่ยอมรับว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันจะเป็นอยู่ตลอดไป
เราทำได้แค่หาช่องว่าง (interstices) เล็กๆน้อยที่ระบบมันทิ้งเอาไว้เพื่อต่อต้าน
(เช่นงานของ Simon Critchley)
(3)
ยอมรับว่าเราต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆกับระบบทั้งหมดเท่าที่จะเป็นไปได้
เพื่อรอการระเบิดขึ้นของความบังเอิญ (เช่น Giorgio Agamben)
(4) ยอมรับว่าต้องมีการต่อสู้
แต่การต่อสู้ทั้งหมดเป็นเรื่องชั่วคราว
สิ่งที่เราทำได้ระหว่างรอคอยการเปลี่ยนแปลงคือ
การปกป้องรัฐสวัสดิการซึ่งเป็นมรดกของฝ่ายซ้ายไว้
และในทางวิชาการก็หันไปสนใจด้านวัฒนธรรมศึกษา
มากกว่าจะสนใจความเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ
(5) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยาก
เพราะระบบทุนนิยมครอบงำเราผ่านเทคโนโลยีแบบที่ Theodor Adorno และ Max Horkheimer เรียกว่า
“การใช้เหตุผลในฐานะที่เป็นเครื่องมือ” (instrumental reason)
(6) พวกที่เชื่อว่าเราสามารถต่อสู้กับรัฐและทุนได้ผ่านการต่อสู้แบบบ่อยเซาะทำลายอำนาจรัฐในชีวิตประจำวัน
เช่น ขบวนการซาปาติสตา และขบวนการอนาธิปัตย์
(7) พวกมาร์กซิสต์แบบหลังสมัยใหม่ที่ละทิ้งการต่อต้านทุนนิยมไปเป็นการต่อสู้เพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่หลากหลาย
โดยเฉพาะการต่อสู้ต่อรองในปริมณฑลของอุดมการณ์และการช่วงชิงวาทกรรมหลักของสังคม
เช่นงานของ Laclau และ Mouffe
และ (8) พวกที่เชื่อว่าคอมมิวนิสต์ดำรงอยู่ในทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์ที่เป็นทุนนิยมความรู้
โดยทุนนิยมหรือจักรวรรดิ (empire)
ได้สร้างประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ขึ้นมาแล้ว
เพียงแต่เรากลับหัวกลับหางการควบคุมของจักรวรรดิให้เป็นการปกครองตนเอง เช่นงานของ Hardt
และ Negri[8]
Badiou (และ Zizek[9]) ชี้ว่า การเมืองแบบนี้ล้วนแล้วแต่ล้มเหลว
สาเหตุสำคัญเกิดจากการปฏิเสธการมี “ต้นแบบความคิด” (Idea) ที่ไปไกลกว่าการยอมจำนน
จบลงที่บ้างก็ยอมรับอำนาจรัฐ บ้างก็ปฏิเสธการจัดการกับอำนาจรัฐ
บ้างก็เชื่อว่าคอมมิวนิสต์ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วเพราะรัฐชาติได้หมดอำนาจลง ทั้งๆที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
การปลดล็อคปัญหาเหล่านี้ก็คือ
การกลับไปทบทวนประสบการณ์ของความล้มเหลวในอดีตของฝ่ายซ้ายและขบวนการคอมมิวนิสต์
ซึ่งมีรัฐ (state) เป็นองค์ประกอบสำคัญของปัญหา
“ความล้มเหลว”
ของการเมืองเพื่อการปลดปล่อยที่สำคัญที่สุดก็คือ การถูกทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลับไปสู่ระบอบการเมืองแบบรัฐสภาและการพึ่งพารัฐแบบพรรคการเมือง
(party-state)
การปราศจากทางเลือกมีสาเหตุที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การปราศจาก “ต้นแบบความคิด” ที่เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริงและความเปลี่ยนแปลง
ในที่นี้ Badiou เสนอให้คิดใหม่เกี่ยวกับ “ความล้มเหลว”
โดยเสนอว่า สิ่งที่ล้มเหลวของคอมมิวนิสต์ในอดีตที่ผ่านมาไม่ใช่ความล้มเหลวของ
“ต้นแบบความคิดแบบคอมมิวนิสต์” (Idea of Communism)
แต่เป็นความล้มเหลวของ “รูปแบบหนึ่งข้อเสนอพื้นฐานของคอมมิวนิสต์” เท่านั้น (a
form of communist hypothesis)[10]
ความล้มเหลวของข้อเสนอของคอมมิวนิสต์ในอดีตจึงสัมพันธ์กับ
“ความเป็นประวัติศาสตร์” (historicity)
เฉพาะของช่วงเวลาหนึ่งๆของการต่อสู้และความขัดแย้งเท่านั้น
เราอาจมองว่ามันเป็นความล้มเหลวของการอ้างอิงกับชื่อเฉพาะ (proper name) เช่น Leninism, Maoism หรือ Trotskyism และการอ้างอิงกับชื่อร่วม (common name) อย่าง
มโนทัศน์ชนชั้นกรรมาชีพ พรรคปฏิวัติ หรือการยึดอำนาจรัฐ เท่านั้น
พูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ
การเมืองเพื่อการปลดปล่อยในปัจจุบันไม่สามารถกลับไปอ้างอิงชื่อเฉพาะและชื่อร่วมที่ถูกใช้โดยขบวนการคอมมิวนิสต์ในอดีตได้อีกต่อไป
การจะเข้าใจอนาคตของการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ต้องข้ามพ้นการเมืองแบบในอดีตที่ยึดเกาะกับรัฐแบบพรรคการเมือง
โดยเสนอรูปแบบของข้อเสนอพื้นฐานของคอมมิวนิสต์แบบใหม่ (new communist
hypothesis)[11]
ในที่นี้ Badiou[12] เสนอให้มองความคิดคอมมิวนิสต์ หรือที่เขาเรียกว่า
“ต้นแบบความคิดคอมมิวนิสต์” แยกออกจากรูปแบบทางการเมือง หรือ
“วิถีของการต่อสู้ทางการเมือง” (mode of politics) แบบคอมมิวนิสต์
ในขณะที่ “ต้นแบบความคิด” มีลักษณะที่เป็นสากล (universal)
คือ ข้ามพ้นความเฉพาะทั่วไปของสถานการณ์ทางสังคมหนึ่งๆ แต่เป็นผลผลิตของโลกทุนนิยมที่คอมมิวนิสต์มีฐานะเป็นต้นแบบความคิดที่วางอยู่บนหลักการเรื่องความเท่าเทียมและการถอนตัวจากรัฐซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับระบบทุนนิยม
“วิถีของการต่อสู้” กลับเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละช่วงเวลา
ซึ่งหมายถึงรูปแบบ (ทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี) การต่อสู้เคลื่อนไหวหรือการคิดเกี่ยวกับการต่อสู้เคลื่อนไหวซึ่งยึดโยงกับชื่อบางชื่อ
มโนทัศน์บางมโนทัศน์ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน วิถีการต่อสู้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากความล้มเหลวของวิถีของการต่อสู้ในแบบเก่า
รวมถึงการทดลอง/ลองผิดลองถูกในการสร้างวิถีหรือรูปแบบใหม่ๆของการต่อสู้และวิธีคิดเกี่ยวกับการต่อสู้
ในส่วนนี้จะอธิบายถึงคอมมิวนิสต์ในความหมายแรก
คือ ในฐานะ “ต้นแบบความคิด” (Idea) Badiou ได้เสนอข้อเสนอที่สำคัญที่สุดคือ คอมมิวนิสต์
(communism) มีสถานะเป็น “ต้นแบบความคิด” หรือ Idea ซึ่งใช้ (I) ตัวใหญ่ ที่มาจากรากฐานทางปรัชญาแบบ
Plato ซึ่งมองว่า
ในโลกของความรู้ความเข้าใจของมนุษย์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่อ้างอิงตนเองกับ
“ต้นแบบความคิด” อยู่เสมอ หรือที่เรียกกันว่า “โลกของแบบ” หรือ Form เช่น การที่เราเรียกม้าแต่ละตัวซึ่งมีสีสัน ลักษณะภายนอก หรือรูปทรงผิดแผกจากกัน
เช่น หางสั้นหางยาว ต่างกันว่า “ม้า”
ได้นั้น เพราะเราอ้างอิงกับโลกของแบบหรือ “ต้นแบบ” บางอย่างว่า “ม้า”
ที่เป็นสากลคืออะไร
ม้าที่เป็นสากลจึงไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่จริงในตัวเองในโลกทางวัตถุ แต่ดำรงอยู่ในโลกของความคิด/การคิดเกี่ยวกับความเป็นสากลของม้า
ที่ต่อให้ม้าจะมีหน้าตาต่างกัน สีสันต่างกัน เผ่าพันธุ์ต่างกัน
เราก็ยังคงเรียกและเข้าใจร่วมกันว่านี่คือ “ม้า”
“ต้นแบบความคิด” หรือ Idea จึงมีลักษณะที่เป็นสากล (universal) ข้ามพ้นกาลเทศะ (transcendental)
มีความเป็นนามธรรม (abstract) และแต่มันก็มีความเป็นเอกพจน์ (singularity) คือ ไม่สามารถนับรวมหรือลดทอนเป็นสิ่งอื่นได้
นอกเสียจากความเป็นประวัติศาสตร์ของแต่ละช่วงเวลา (historicity) ที่ต้นแบบความคิดคอมมิวนิสต์เผยแสดงตัวออกมา
Badiou เสนอว่า ในการพิจารณา “ต้นแบบความคิด”
นั้นมีอยู่ 3 องค์ประกอบที่ขาดองค์ประกอบใดประกอบหนึ่งไม่ได้[13] คือ
(1)
การเมือง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการเข้าถึงความจริง (truth procedure)
ซึ่งเป็นความจริงที่เราคิดถึงหรือมองเห็นแบบตรงไปตรงมาด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่ได้
หรือที่ Jacques Lacan เรียกว่า the Real[14] โดยในทรรศนะของ Badiou นั้น the Real หมายถึง ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในชีวิตของผู้คนจริงๆ (the real
people) ส่วนในทรรศนะของ Zizek หมายถึง
ความขัดแย้งทางชนชั้น (class contradiction) แต่สำหรับ Badiou
ความขัดแย้งเช่นนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งที่มาจากความต่างในตำแหน่งแห่งที่ภายในระบบการผลิตหรือความสัมพันธ์ทางการผลิต
(นี่ทำให้ Badiou ถูกมองว่าไม่ใช่มาร์กซิสต์
เพราะเขาละทิ้งหรือไม่สนใจการวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองซึ่งเป็นจารีตแบบมาร์กซิสต์)
แต่เป็นความขัดแย้งที่ปรากฏในระดับของการแสดงออกทางการเมือง (political
expression) ที่เราไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้แบบวัตถุวิสัยแบบที่เราวิเคราะห์หรือจำแนกชนชั้นในทางสังคมวิทยา
(ในแง่นี้หากจะมองว่าเขาใช้มโนทัศน์ “ชนชั้น” มาอธิบาย
แต่มโนทัศน์ชนชั้นในที่นี้ไม่ใช่มโนทัศน์ในทางเศรษฐกิจสังคม-socio-economic
concept แต่มโนทัศน์ชนชั้นของเขาเป็นมโนทัศน์ทางการเมือง-political
concept) แต่เป็นความขัดแย้งที่แม้จะดำรงอยู่
แต่เราจะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อมันปรากฏในระดับของการเกิดปฏิบัติทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ
(political practice)[15]
(2)
ประวัติศาสตร์ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งมีสถานะเป็น the Real ความจริง (truth)
หรือสิ่งที่ไม่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นเราจะเห็นมันได้ก็ต่อเมื่อมันปรากฏในระเบียบทางสัญลักษณ์
(symbolic order) คือ
ปรากฏผ่านภาษาและสัญญะต่างๆที่ไหลเวียนอยู่ในโลกทางสังคม เช่น
การรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร หรือแถลงการณ์ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้จึงแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และช่วงเวลาที่มีความเป็นเฉพาะท้องถิ่น
(local) อยู่มาก นั่นหมายความว่า ในสังคมที่แตกต่างกัน
อาจมีชื่อเรียกหรือรูปแบบการใช้ภาษาเพื่อแสดงออกถึงความคิดทางการเมืองของตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ดังเช่นที่ Susan Buck-Morss พูดถึงต้นแบบความคิดคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในปัญญาชนอิสลาม
ที่แม้ในการเคลื่อนไหวต่อสู้จะใช้ภาษาหรืออ้างอิงตัวบุคคลในคัมภีร์อัลกุรานก็ตาม
แต่นั่นเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น ในขณะที่เนื้อหากลับเป็นคอมมิวนิสต์ คือ
วางอยู่บนการท้าทายลำดับชั้นทางสังคมและพูดถึงความเท่าเทียมกัน[16]
ดังนั้น
การจะเข้าใจการทำงานของต้นแบบความคิดหรือการเมืองจึงต้องศึกษามันผ่านประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงที่มีเรื่องของพื้นที่และเวลาเฉพาะท้องถิ่นด้วย
(3)
จิตสำนึกตัวตน (subjective) นั่นคือ
มิติของการที่ปัจเจกบุคคลตัดสินใจหรือเลือกที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความจริงทางการเมืองในพื้นที่และเวลาหนึ่งๆของประวัติศาสตร์
ซึ่งเราอาจจะตั้งชื่อเกี่ยวกับความจริงนั้นๆได้หลายแบบ
(แบบที่นักรัฐศาสตร์มักจะเรียกว่า อุดมการณ์ทางการเมือง หรือ political
ideologies) เช่น Leninism, Maoism, Paris Commune, May’
1968 หรือ Post-Maoism กล่าวในภาษาของ Badiou
มันคือ การที่ปัจเจกบุคคลตัดสินใจที่จะเป็น “กำลังพล” ของความจริงทางการเมืองชุดนั้นๆ
(militant of political truth)
โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัจเจกบุคคลที่แยกขาดจากบุคคลอื่นหรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆที่ขึ้นต่อสภาพการณ์ที่ดำรงอยู่
(state of situation) แบบตั้งรับ (passive) แต่ผู้คนที่ยึดโยงตนเองกับความจริงกลับลุกขึ้นมาเข้าร่วมกับเหตุการณ์ (event) ทางการเมืองที่ระเบิดขึ้นในฐานะที่เป็นองค์ประธานของความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ในขณะนั้นๆ
ในทรรศนะของ Badiou นี่คือ การเกิดขึ้นขององค์ประธาน หรือ subject นั้นเป็นมิติที่สำคัญมากของต้นแบบความคิด คือ การที่ต้นแบบความคิดซึ่งเป็นนามธรรมกลายมาเป็นรูปธรรมในเชิงวัตถุคือตัวมนุษย์ในประวัติศาสตร์
กล่าวโดยสรุปแล้ว “ความจริง” หรือ truth จึงต้องมี
องค์ประธานของความจริง (Subject of truth)
ด้วยเพื่อทำให้ความจริงนั้นปรากฏเป็นไปได้ในโลกของมนุษย์
ต้นแบบความคิดจึงเป็นการทำให้เป็นองค์รวมทั้งหมด
(totalization) ของทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้น คือ (1) การเมือง/ความจริง/the
Real (2) ประวัติศาสตร์/โลกของระเบียบสัญลักษณ์
และ (3) จิตสำนึกตัวตน/อุดมการณ์ ยิ่งไปกว่านั้น Badiou
เสนอว่า ใน 3 องค์ประกอบนี้
การเมืองและประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่อยู่ตรงกันข้ามกันมากที่สุด หมายความว่า
ในขณะที่การเมือง/the Realดูจะเป็นเรื่องของความจริงที่ไม่ขึ้นต่อกาละและเทศะ
แต่ประวัติศาสตร์/symbolicกลับเป็นเรื่องที่จำกัดเฉพาะของเวลาและสถานที่
ในที่นี้องค์ประกอบที่ทำหน้าที่เชื่อมองค์ประกอบที่สุดโต่งสองด้านเข้ามาหากันก็คือ
มิติของจิตสำนึกตัวตน/ideology ที่ Badiou ชี้ว่าเป็นมิติที่เลื่อนไหลอยู่ระหว่างสองขั้วสุดด้านของการเมืองและประวัติศาสตร์[17] ถ้าจิตสำนึกตัวตนอิงแอบอาศัยอยู่กับความจริงสัมบูรณ์ไม่เปลี่ยนแปลงที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพื้นที่และเวลา
จิตสำนึกนั้นก็จะคล้ายกับจิตสำนึกแบบศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าที่สัมบูรณ์ในตัวเองไม่เปลี่ยนแปลงหรือกฎแห่งกรรมที่เราเปลี่ยนแปลงหรือคิดเกี่ยวกับมันไม่ได้แบบที่พุทธศาสนาเรียกว่า
“อจินไตย” แต่ถ้าจิตสำนึกของเราขึ้นกับความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ทั้งหมด
มนุษย์จะกลายเป็นเพียงทาสของข้อเท็จจริง (facts) ที่ไหลไปของปรากฏการณ์เฉพาะหน้าประจำวัน
โดยไม่สามารถคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไปไกลกว่าชีวิตประจำวันเฉพาะหน้าได้ ซึ่งทั้งสองรูปแบบล้วนแล้วแต่กดทับศักยภาพทางการเมืองของผู้คนเอาไว้ให้เป็นเพียงทาสของพระเจ้าหรือไม่ก็ยอมจำนนต่อสภาพเฉพาะหน้า
แต่กระบวนการก่อตัวของจิตสำนึกตัวตนมีทั้งที่ขึ้นอยู่กับความเฉพาะกาละและเทศนะของท้องถิ่นของประวัติศาสตร์
พร้อมๆกับที่ผู้คนกลายมาเป็นองค์ประธานโดยการกระโดดเข้าไปยึดโยงตนเองกับความจริงทางการเมืองที่เป็นสากล
เพื่อนำความจริงหรือการเมืองมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาความจริงในสภาพการณ์ที่ตนอาศัยอยู่ในมิติทางประวัติศาสตร์ด้วย
ต้นแบบความคิดจึงมีความสำคัญในฐานะที่ทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถรับรู้ความเป็นไปในประวัติศาสตร์ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นสากลได้โดยไม่จมอยู่ในกองพะเนินเทินทึกของความเป็นจริงเฉพาะหน้า
และก็ไม่อยู่ในโลกของความเพ้อฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงของพระเจ้า ต้นแบบความคิดที่ทำงานบนโลกของมนุษย์จึงต้องมีมิติของอุดมการณ์ที่มีเรื่องปรุงแต่ง
(fantasy) ฉาบเคลือบ เช่น
เรื่องเล่าที่เชิดชูวีรกรรมของนักต่อสู้ นักปฏิวัติ และตำนานของการเสียสละของผู้คนดำรงอยู่ด้วย
พร้อมๆกับที่มันก็เป็นเรื่องของข้อเสนอพื้นฐานบางอย่าง (hypothesis) ที่เป็นสากลข้ามพ้นกาละและเทศะ
คุณสมบัติสำคัญของ
“ต้นแบบความคิด” จึงมีความเป็นเอกพจน์ไม่ขึ้นกับอะไรนอกจากตัวมันเอง (singularity) เอกพจน์นั้นแตกต่างกับความทั่วไป
(general) ที่เหมารวมว่าทุกคนเหมือนกัน และต่างจากความเฉพาะ
(particular) ที่แต่ละคนเป็นเพียงส่วนหนึ่งย่อยๆของภาพรวมทั้งหมดที่ยึดโยงกับอะไรบางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ดังนั้นเอกพจน์จึงขึ้นกับตัวมันเองเท่านั้นผ่านการผูกโยงทั้ง 3 องค์ประกอบเข้ามาหากัน โดยไม่สามารถลดทอนเอกพจน์ของเหตุการณ์ดังกล่าวให้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาพการณ์ที่ดำรงอยู่
ดังที่ Badiou เล่าถึงการยึดกรุงปารีสของชนชั้นกรรมกรในเหตุการณ์คอมมูนปารีสว่า
เราไม่สามารถลดทอนการลุกฮือของชนชั้นกรรมาชีพให้เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายซ้ายในรัฐสภาได้
และเมื่อมันปรากฏขึ้นมาแล้วเราก็ไม่สามารถเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ในแบบเดิมที่ว่าชนชั้นกรรมกรโง่เขลาและอ่อนแอได้ในแบบที่ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำนิยมเล่าได้อีกต่อไป
แต่การระเบิดขึ้นของความขัดแย้งที่เข้มข้นจนกลายเป็นการยึดเมืองทั้งเมืองจะกลายมามีสถานะทางประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง
และเป็นความจริงที่ไม่สามารถถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงเชิงประจักษ์เฉพาะหน้าได้[18]
นอกจากนี้ Badiou ชี้ว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดของต้นแบบความคิดเป็นการทำสิ่งที่ไม่เคยปรากฏ/ดำรงอยู่
(inexistent) ให้ปรากฏ/ดำรงอยู่ (to exist) และการทำสิ่งเคยเป็นเพียง “ข้อเท็จจริง” หนึ่ง (a fact) ที่ไม่มีความหมายให้กลายเป็น “ความจริง” (truth)[19] ซึ่ง
Badiou เรียกการปรากฏ/ระเบิดขึ้นของสิ่งที่ไม่เคยมีตัวตนว่า
“เหตุการณ์” (event) ซึ่งหมายถึง
การแตกหักกับระเบียบปกติที่ดำรงอยู่หรือที่เรียกว่า “สภาพการณ์ที่ดำรงอยู่” (state
of situation) ซึ่งในตัวมันเองก็หมายถึงการแตกหักกับ “รัฐ” (state) ด้วย นั่นก็หมายความว่า
การระเบิดขึ้นของเหตุการณ์มีนัยยะของการต่อต้านและถอนตัว (subtraction) ออกจากรัฐและโครงสร้างอำนาจ รวมทั้งพรรคการเมือง
(โดยเฉพาะพรรคการเมืองของฝ่ายซ้ายในสภาด้วย) พร้อมๆกับการคิดค้นสร้างสรรค์รูปแบบการเมืองและการจัดการสังคมแบบใหม่ให้เกิดขึ้นได้
(แม้จะล้มเหลว) การปรากฏของการเมืองหรือความขัดแย้งหรือ the Real จึงไม่ใช่เรื่องของสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว/มีอยู่แล้ว/จำกัด (finitude) แต่เป็นเรื่องของความเป็นไปได้ของเรื่องเล่าในอดีตฉบับใหม่และความเป็นไปได้ของอนาคตที่ไม่จำกัดและไม่สิ้นสุด
(infinitude)[20]
การเมืองแบบคอมมิวนิสต์จึงไม่ได้ใช่โปรแกรมของนโยบายรัฐ
เช่น ถ้าเป็นรัฐสังคมนิยมจะต้องมีนโยบายอะไรบ้างไล่เรียงไป
แต่การเมืองแบบคอมมิวนิสต์เป็นการเมืองที่เปิดให้มีการลองผิดลองถูกในแง่ของการจัดการสังคม
ซึ่งการลองผิดลองถูกดังกล่าววางอยู่บนหลักการ 2 ข้อใหญ่ คือ หนึ่ง ความยุติธรรมที่เท่าเทียม และสอง
การถอยห่างออกจากรัฐ Badiou มองว่า
หากการเมืองของคอมมิวนิสต์ละเลยหลักการสองอย่างข้างต้น
ผลสุดท้ายแล้วการเมืองแบบนี้จะทำลายตัวเอง
โดยการกลับไปหาหรือพึ่งพิงกับโครงสร้างอำนาจรัฐดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของรัฐสังคมนิยมทั่วไป
ดังนั้น ธรรมชาติประการหนึ่งของการเมืองทุกประเภท
รวมถึงการเมืองเพื่อการปลดปล่อยก็คือ ในขณะที่ชีวิตของผู้คนมันหลากหลายไม่สิ้นสุด
(infinite/multiple)[21] ซึ่งต่างจากรัฐและพรรคการเมืองที่เป็นหนึ่งเดียวและจำกัด
(finite/unitary) (ที่นอกเหนือจากจะจำกัดการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่มีตัวตนแล้วยังจำกัดการคิดถึงความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ของการเกิดสิ่งใหม่ด้วย)
แต่การเมืองของผู้คนที่เข้าร่วมการเมืองเพื่อการปลดปล่อยก็ต้องการชื่อเฉพาะที่เป็นหนึ่งเดียว
(proper name) เพื่อรวบรวมผู้คนเข้ามา เช่น Spartacus,
Munzer, Robespierre, Lenin, Luxemburg หรือ Mao เพื่อเป็นชื่อเรียกความจริงทางการเมืองในประวัติศาสตร์เฉพาะนั้นๆ
ชื่อเฉพาะจึงทำหน้าที่ยึดโยงความจริงทางการเมืองกับผู้คนหรือจิตสำนึกตัวตนเข้ามาหากัน
“ชื่อเฉพาะ” จึงเป็นทั้งตัวเชื่อมต่อ (mediation)
และเป็นกลไกลให้เกิดการแบ่งปันความคิด/ความเข้าใจ/ความจริงระหว่างปัจเจกบุคคลต่างๆที่กระโดดเข้ามาเป็นองค์ประธานของความจริง
ในการสร้างจิตสำนึกตัวตน/องค์ประธาน
(Subject)
ซึ่งหมายถึงการทำให้สิ่งที่ไม่ปรากฏให้ปรากฏในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นการปรากฏของสิ่งใหม่แล้ว
ยังหมายถึงการทำลายสิ่งเก่าด้วย ที่นอกเหนือจากการที่โครงสร้างสังคมเก่าถูกทำลาย
ยังหมายถึงการทำลายตัวตนเก่าของผู้คนที่รับรู้ตัวเองในฐานะคนที่โง่เขลาอ่อนแอหรือเป็นเพียงแรงงาน
คนชายขอบ ซากเดนของสังคม ซึ่งขึ้นต่ออำนาจของรัฐและระบบทุนนิยมให้กลายเป็นตัวตนที่มีความกล้าหาญ/กล้าตัดสินใจที่จะเข้าเป็นองค์ประธานของประวัติศาสตร์
หรือที่ Badiou เรียกว่า “การสร้างตัวตนใหม่” (existential
transfiguration) พร้อมกับขยายจิตสำนึกตัวตนดังกล่าวให้เข้มข้นและลงลึกให้มากเท่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
(maximal intensity) ผ่านการเข้าร่วมใน “เหตุการณ์”
โดยที่เป้าหมายสุดท้ายคือ
การกลับหัวกลับหางเส้นแบ่งของความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้
และเส้นแบ่งของที่ปรากฏและไม่ปรากฏซึ่งเป็นเส้นแบ่งที่ถูกลากขึ้นโดยสังคมเก่าได้
เพื่อเปิดให้ความหลากหลายทุกประเภทเป็นไปได้
และเปิดให้การคิดถึงการเมืองเป็นสิ่งที่ผู้คนทุกคนเข้าถึงได้ (open for all)[22]
(นี่เป็นสาเหตุที่ Badiou ปฏิเสธ “ปรัชญาการเมือง” หรือ political
philosophy เพราะปรัชญาการเมืองมักจะเป็นเรื่องของชนชั้นนำหรือผู้รู้
แต่การคิดถึงการเมืองในระดับปรัชญากลับต้องเปิดกว้างให้คนทุกคนเข้าถึงได้แบบไม่จำกัด
นี่คือเหตุผลที่เขามองว่า “การเมือง” มีคุณสมบัติของความเป็นคอมมิวนิสต์ในตัวเอง
คือ ไม่กีดกันใครออกจากการเข้าถึง ขอเพียงมีความกล้าหาญที่จะละทิ้งตัวตนเดิมและเข้าร่วมเป็นกำลังพลของความจริงทางการเมืองนั้นๆ)[23]
กล่าวโดยสรุปแล้ว
ในการเปลี่ยนแปลงโลก หากปราศจากต้นแบบความคิดซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญที่แยกขาดจากกันไม่ได้นั้น
ต่อให้มีความขัดแย้งเฉพาะหน้าที่รุนแรงแค่ไหนก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติสร้างสังคมใหม่จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้
เพราะผู้คนที่เข้าร่วมจะไม่มีวันจินตนาการหรือมองโลกไปได้ไกลกว่าสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้ต่อหน้าต่อตา
และต่อให้มีความจริงที่ไปไกลกว่าความเป็นจริงเฉพาะหน้า
แต่หากไม่มีปฏิบัติการหรือการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความจริงเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของผู้คน
การปฏิวัติก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ คำถามที่ Badiou ทิ้งท้ายไว้ก็คือ
ถ้าเหตุการณ์เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้น
แต่มันก็มักจะเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว หนทางที่ดีที่สุดจึงต้องไม่ใช่การอยู่แบบสิ้นหวัง
แต่เป็นการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาซึ่งหมายถึง เราต้องตระเตรียม/มีต้นแบบความคิดคอมมิวนิสต์ไว้ให้พร้อมรอรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา
“หากปราศจากต้นแบบความคิดแล้วไซร้ ความสับสนไร้ทิศทางของมวลมหาชนก็ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก”[24] ดังนั้น
ต้นแบบความคิด หรือ Idea จึงทำหน้าที่ยึดโยงทั้งสามองค์ประกอบเข้ามาหากันเพื่อทำให้โลกใหม่สามารถเกิดขึ้นได้แทนที่โลกใบเก่า
ดังที่ Badiou กล่าวว่า “ต้นแบบความคิดหนึ่งๆมักจะต้องเสนอว่า
ความจริงแบบใหม่เป็นไปได้ในประวัติศาสตร์”[25]
มาถึงตรงนี้ Alain Badiou สรุปว่า ข้อเสนอแบบคอมมิวนิสต์ (communist
hypothesis) เป็น “ต้นแบบความคิด” (Idea)
หนึ่งและเป็นต้นแบบความคิดเดียวของการเมืองเพื่อการปลดปล่อย
เนื่องด้วยมันวางอยู่บนหลักการเรื่องความเท่าเทียม (egalitarianism) และการถอยห่าง/ถอนตัวออกจากรัฐ (distancing and
subtracting from the state)[26]
ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สุดของต้นแบบความคิดคอมมิวนิสต์
และทำให้คอมมิวนิสต์แตกต่างไปจากต้นแบบความคิดประเภทอื่นๆ
โดยเฉพาะความคิดแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยแบบรัฐสภาซึ่งเป็นเพียงโวหารทางอุดมการณ์ของระบบทุนนิยม
รวมถึงความคิดแบบสังคมนิยมที่ปรากฏในระบอบสตาลินและพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ส่วนรูปแบบของการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายซ้ายไม่ว่าจะอยู่ในชื่อของ
Leninism หรือ Maoism ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงรูปแบบหนึ่ง
(a form) ของต้นแบบความคิดคอมมิวนิสต์ที่มีจุดเริ่มต้น
ความล้มเหลว และจุดจบในตัวมันเองเท่านั้น และเมื่อมันล้มเหลว นั่นก็หมายความว่า
มีความเป็นไปได้ของรูปแบบหรือวิถีของการต่อสู้ทางการเมืองแบบอื่นๆกำลังถือกำเนิดขึ้นมาแทนที่
และก็เช่นเดียวกับการเมืองทุกประเภทที่ต้องอาศัยการทดลอง/ลองผิดลองถูก
และอาศัยเวลา รวมถึงการพิสูจน์ตัวเองในโลกของความเป็นจริง
ตราบใดที่การกดขี่ขูดรีดยังมีอยู่ ต้นแบบความคิดคอมมิวนิสต์ก็จะดำรงอยู่
สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ การทดลองรูปแบบการต่อสู้ใหม่ๆ
ภาษาที่ใช้ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ และการจัดองค์กรแบบใหม่ๆเท่านั้น
[1] บทความที่นำมาเสนอในงานถูกตีพิมพ์รวมเล่มใน
Costas Douzinas and Slavoj Zizek eds., The Idea of
Communism (London and New York: Verso, 2010)
[2] ดูเกี่ยวกับการทบทวนสถานะของการล่มสลายของโซเวียตต่ออนาคตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในบทความของ
ดาริน อินทร์เหมือน ใน ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2546)
[3] Alain Badiou, The Communist Hypothesis (London and New York: Verso,
2010), p. 37.
[4] Slavoj Zizek, The Idea of Communism 2: The New York Conference
(London and New York: Verso, 2013)
[5] ดู ทอม เมอร์ติส
บก., ขบวนการในความเคลื่อนไหว:
อีกโลกหนึ่งจะเป็นจริงได้หรือไม่? (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555)
[6] http://globalpublicsquare.blogs.cnn.com/2011/10/11/occupy-wall-street-as-a-fight-for-real-democracy/ (เข้าถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2013)
[7] ดูที่ Zizek ประเมิน Occupy Wall Street ใน http://www.lrb.co.uk/v34/n02/slavoj-zizek/the-revolt-of-the-salaried-bourgeoisie (เข้าถึงวันที่ 26 มกราคม 2012)
[8] ดู Slavoj Zizek, In Defense of Lost Causes (London and New York: Verso, 2007), pp. 337-338.; และดู Alain Badiou, The Communist Hypothesis, pp. 56, 100.
[9] ดูเนื้อหาส่วนที่ชื่อว่า
“What is to be done?” ใน Slavoj Zizek, In Defense of Lost Causes, pp. 337-461.
[10] Alain Badiou, The Communist Hypothesis, p. 5.
[11] Alain Badiou, The Communist Hypothesis, p. 7.
[12]
Alain Badiou, “The Idea of Communism,” in The Idea of
Communism, pp. 1-14. และ The Communist Hypothesis
[13]
Alain Badiou, “The Idea of Communism,” in The Idea of
Communism, pp. 1-3.
[15]
Alain Badiou, “The Idea of Communism,” in The Idea of
Communism, p. 9.
[16]
Susan Buck-Morss, “The Second Time as Farce … Historical Pragmatics and the
Untimely Present,” in Costas Douzinas and Slavoj Zizek eds., The Idea of
Communism (London and New York: Verso, 2010), pp. 67-80.
[17]
Alain Badiou, “The Idea of Communism,” in The Idea of
Communism, pp. 7-9.
[18] Alain Badiou, The Communist Hypothesis, pp. 169-227.
[19] Alain Badiou, The Communist Hypothesis, p. 215.
[21] ดูมโนทัศน์เรื่อง
multiple ของ Badiou และข้อวิจารณ์ที่ Badiou มีต่อ Giles Deleuze เรื่อง multiplities ใน Alain Badiou, DeLeuze:
The Clamor of Being (Minneapolis and London: University of Minnesota
Press, 1999)
[22] Alain Badiou, The Communist Hypothesis, pp. 222-223.
[23] Ranciere เสนอคล้ายคลึงกันในงานหลายชิ้นของเขา เช่น Disagreement: Politics and Philosophy (London and New
York: Verso, 1998); The Ignorant Schoolmaster: Five Lessons in Intellectual
Emancipation (Stanford University Press, 1991)
[24]
Alain Badiou, “The Idea of Communism,” in The Idea of
Communism, p. 13.
[26]
Alain Badiou, “The Idea of Communism,” in The Idea of
Communism, p. 13.